เกี่ยวกับ กฟผ.

egat

กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิต จัดให้ได้มา และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้ใช้ไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนดและประเทศใกล้เคียง พร้อมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้าภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ กฟผ.


ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าในธุรกิจใหญ่


การผลิตไฟฟ้า

กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศรวมจำนวนทั้งสิ้น 50 แห่ง มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 15,789.58 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าหลายประเภท ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ) 27 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ) 9 แห่ง โรงไฟฟ้าดีเซล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ 1 แห่ง


การรับซื้อไฟฟ้า

นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. แล้ว กฟผ. ยังรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ 13 ราย รวมกำลังผลิต 14,948.50 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก รวมกำลังผลิต 8,756.82 เมกะวัตต์ รวมทั้งรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศมาเลเซีย รวมกำลังผลิต 3,877.60 เมกะวัตต์


การส่งไฟฟ้า

กฟผ. ดำเนินการจัดส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นผ่านระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งมีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ระดับแรงดัน 500 กิโลโวลต์ 230 กิโลโวลต์ 132 กิโลโวลต์ 115 กิโลโวลต์ และ 69 กิโลโวลต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่รับซื้อโดยตรงจาก กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ซึ่งนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศต่อไป นอกจากนี้ กฟผ. ยังจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ได้แก่ สปป.ลาว ด้วยระบบส่งไฟฟ้าแรงดัน 115 กิโลโวลต์ และ 22 กิโลโวลต์ และประเทศมาเลเซีย ด้วยระบบไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง (HVDC) 300 กิโลโวลต์



ธุรกิจอื่นๆ

ธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ กฟผ.


ในปี 2561 กฟผ. ได้ดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สร้างรายได้เพิ่มจากความสามารถและทรัพยากรที่ กฟผ. มีอยู่ โดยให้บริการด้านธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพแก่หน่วยงานภายนอก ได้แก่ งานวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า งานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแก่กลุ่มลูกค้าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) รวมถึงโรงไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์วัตถุพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้า งานบำรุงรักษาระบบส่ง และงานบริการด้านธุรกิจโทรคมนาคม อีกทั้งได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจเข้าสู่ประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย โดยในปี 2561 กฟผ. ได้มีการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ และในต่างประเทศที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  • ธุรกิจวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้รับความไว้วางใจจากบริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินงานบริการที่ปรึกษาวิศวกรรมควบคุมงานก่อสร้างให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมศรีราชา และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมปลวกแดง ของบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด และบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด ตามลำดับ
  • ธุรกิจงานบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา กฟผ. ได้รับความไว้วางใจจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น, บริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด, บริษัท เบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น จำกัด และกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ในเครือ Gulf ให้เป็นผู้ดำเนินงานด้านบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา ตลอดระยะเวลาการให้บริการ กฟผ. ได้ดำเนินงานตามวาระอย่างมีคุณภาพ จนทำให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจ สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งได้ขยายตลาดงานบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาไปยัง สปป.ลาว และอินโดนีเซีย นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างรายได้จากธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้แก่ กฟผ. แล้ว ยังถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย และยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน
  • ธุรกิจผลิตภัณฑ์จากวัตถุพลอยได้ กฟผ. มีนโยบายในการนำวัตถุพลอยได้ที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้แก่ เถ้าลอยลิกไนต์ เถ้าหนักลิกไนต์ และยิปซัมสังเคราะห์ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว จึงทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจวัตถุพลอยได้ขึ้น โดยเน้นนวัตกรรมด้านสินค้า (Product Innovation) เป็นการพัฒนาวัตถุพลอยได้ให้มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติดียิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และให้ทันกับยุคเทคโนโลยีดิจิทัล 4.0 โดยมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศรวมถึงนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาวัตถุพลอยได้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
  • ธุรกิจบำรุงรักษาระบบส่ง กฟผ. เป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบส่งกำลังไฟฟ้าแรงสูงในประเทศไทย ซึ่งมีระบบส่งไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั้งประเทศทุกภาคส่วน ภายใต้บทบาท Enhanced Single Buyer (ESB) ของประเทศ โดย กฟผ. มีนโยบายส่งมอบบริการที่มีความพร้อมให้ลูกค้าด้วยคุณภาพที่ดี เพื่อส่งเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศไทยให้มั่นคงเชื่อถือได้ กฟผ. มีนโยบายทำธุรกิจปฏิบัติการและบำรุงรักษาระบบส่งให้แก่ลูกค้าผู้ใช้บริการ เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมและลูกค้าทั่วไป
  • ธุรกิจโทรคมนาคม กฟผ. ได้นำทรัพยากรโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่มีอยู่มาบริหารให้เกิดคุณค่า โดยให้บริการทางด้านโทรคมนาคม ภายใต้กฎระเบียบและการกำกับดูแลของคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้กับ กฟผ. มีบริการต่าง ๆ ได้แก่ การให้บริการวงจรช่องสัญญาณโทรคมนาคม (Domestic and International Bandwidth) และบริการเส้นใยแก้วนำแสง (Dark Fiber) แก่หน่วยงานภายนอก มีผู้ใช้งานทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน กฟผ. พร้อมเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาประเทศในการขยายโครงข่าย 4G 5GIoT และโครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคมอื่น ๆ ในอนาคต ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินนโยบาย Digital Economy ของภาครัฐ เพื่อก้าวไปสู่ Thailand 4.0 เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคนวัตกรรม และยุค “Disruptive Technology” ดังนั้นจึงมีการเตรียมความพร้อมรองรับสำหรับให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานที่มารับบริการ โดยพัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้งาน

การดำเนินงานของบริษัทในเครือ


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีบริษัทในเครือจำนวน 5 บริษัท

egatif

สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทในเครือ


ชื่อบริษัท ชื่อย่อ ทุนจดทะเบียน
(ล้านบาท)
สัดส่วนการถือหุ้น
(ร้อยละ)
สถานะ
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) RATCH 14,500 45 บริษัทย่อย
บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด EGATi 12,197.4 99.99 บริษัทย่อย
บริษัท อีแกทไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด EDS 623 45 บริษัทย่อย
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) EGCO 5,300 25.41 บริษัทร่วม
บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด DCAP 1,670 35 กิจการร่วมค้า